เป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับวงการธุรกิจอาหารประเภทฮาลาลของไทย เพราะเมื่อปีที่แล้ว 2562 ประเทศไทยเองได้ติดอันดับการส่งออกอาหารฮาลาลเป็นอันดับที่ 11 ของโลก และในปีนี้เองก็กำลังมีการผลักดันให้ขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 10 อีกด้วย
สำหรับตลาดอาหารฮาลาลนั้นมีแหล่งตลาดที่ใหญ่มาก เพราะมีผู้บริโภคที่เป็นชาวมุสลิมกว่า 2,200 ล้านคนทั่วโลก และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารฮาลาลแต่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิมอีก
ประเทศไทยเองก็ได้มีการเติบโตในวงการอาหารฮาลาลเป็นอย่างมากในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา มีทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิตอาหารฮาลาล และยังคอยพัฒนามาตรฐานของอาหารฮาลาลอย่างต่อเนื่อง อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเราคงได้เห็น นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทื่ได้ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการคิดค้น เครื่องทดสอบการปนเปื้อนสุกร (Porcine Test Kit) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยทดสอบการปนเปื้อนของสุกรในอาหาร โดยวิธีการจับโปรตีนจากสุกร
จากการที่พัฒนาองค์ความรู้ต่างๆที่สามารถใช้เพื่อผลิตอาหารฮาลาลได้อย่างเสมอทำให้ ภาครัฐ สถาบันศึกษาต่างๆ รวมถึงคณะกรรมการกลางอิสลามประเทศไทยช่วยกันผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหารฮาลาลในประเทศไทย และยังผลักดันให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆจนติดอันดับของโลกซึ่งมาตรฐานดังกล่าว ต้องวัดกันตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบ การปรุงการผลิตต่างๆรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมูลค่าของตลาดอาหารอิสลามจากรายงานล่าสุดที่ผ่านมาก็พบว่า มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี
ประเทศไทยเองได้ส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) ทั้งหมด 57 ประเทศโดยที่มีประเทศ จีน สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่นเป็นฐานลูกค้าหลักในการส่งออก มูลค่าทั้งหมดในการส่งออกคิดเป็นเงิน 1.6 แสนล้านบาทหรือ 16% ของการส่งออกอาหารของประเทศไทย
ประเทศไทยเองยังมีข้อได้เปรียบที่เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีผลผลิตมาจากวัตถุดิบในประเทศเองเสียส่วนใหญ่ อย่างตัวเลขที่เปิดเผยออกมาก็พบว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจอาหารฮาลาลมากกว่า 1.4 แสนรายแล้วยังพบอีกว่า 95%ของผู้ผลิตไม่ใช่ชาวมุสลิม ทำให้เราเห็นได้ว่าธุรกิจอาหารฮาลาลกำลังเปิดกว้างขึ้นไปเรื่อยๆในประเทศเรา ซึ่งคาดว่าประเทศไทยเองจะชิงธงอันดับ1 ส่งออกอาหารฮาลาลได้ภายในเวลา 5ปีนี้จากการผลักดันของรัฐ และสถาบันต่างๆภายในประเทศก็พอจะทำให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเป็นกระแสในช่วงนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของทั่วโลกที่คาดว่าในอีก 40 ข้างหน้าชาวมุสลิมจะมีจำนวนมากถึง 3,000 ล้านคนเลยทีเดียว