เศรษฐกิจแบบซอมบี้ หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินได้เห็นผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับภาวะเศรษฐกิจแบบซอมบี้ เพราะชื่อเรียกเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรแต่กลับถูกเรียกมานานแล้วตั้งแต่ช่วงปี 1990
ซอมบี้ คือ อสูรกายในหนังภาพยนตร์ต่างๆที่มีลักษณะคล้ายเป็นผีดิบซึ่งอาจมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการนำเสนอของนิยาย และหนังต่างๆ แต่มีลักษณะร่วมกันคือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว กล่าวคือกลับมามีชีวิตอีกครั้งเพียงแต่จะค่อยๆตายไปเรื่อยๆเน่าสลายไปตามกาลเวลา ลักษณะของซอมบี้ที่ได้กล่าวถึงหากจะนำมาเปรียบเปรยกับภาวะเศรษฐกิจในบ้านเราก็ดูเหมือนว่าอาจจะรุนแรงไป แต่สภาพเศรษฐกิจในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้ต่างจากที่กล่าวไว้เลย
ภาวะเศรษฐกิจซอมบี้คือภาวะที่แม้ว่าตัวเลขหรือดัชนีต่างๆที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดูเหมือนจะสูงขึ้น เม็ดเงินที่หมุนเวียนภายในระบบของธุรกิจต่างๆดูมากขึ้น แต่กลับไม่มีผลกำไรเพียงพอที่จะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เศรษฐกิจซอมบี้จะทำให้เกิด บริษัทซอมบี้ตามๆมา คือบริษัทที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้ แต่อยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ในช่วงเวลาหนึ่ง และสุดท้ายแล้วก็อาจจะต้องปิดกิจการลงในที่สุด นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจในหลายๆประเทศก็เคยออกมาบอกว่า ประเทศไหนมีธุรกิจซอมบี้เยอะเข้าในหลายๆ ธุรกิจผลสุดท้ายจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นยกตัวอย่างเมื่อช่วงปี 1990 ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจนถึงขั้นที่ว่านักธุรกิจหลายๆคนในญี่ปุ่นยกให้เป็น ทศวรรษมืด ของวงการธุรกิจไปเลย ในช่วงนั้นรัฐบาลได้ออกนโยบายต่างๆเพื่อหนุนธนาคารหลายแห่งไว้ไม่ให้ล้มละลาย ซึ่งธนาคารเหล่านี้เองก็ได้ปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำๆให้กับบริษัทซอมบี้หลายๆแห่ง หรือเปรียบเสมือนการติดเชื้อแพร่ระบาดของซอมบี้ ที่กระจายภาวะเศรษฐกิจซอมบี้ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจแบบนี้แล้วนักวิเคราะห์หลายๆคนก็แนะว่าทางแก้นั้นมีหลายทางอย่างเช่น
- ให้ทางภาครัฐสนับสนุนบริษัทที่ไม่เป็นซอมบี้เสียดีกว่า เพราะ ในเมื่อสุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านั้นอาจจะต้องปิดกิจการลง ก็ควรไปลงทุนกับบริษัทที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เสียจะดีกว่า
การแก้ไขปัญหาแบบนี้ เห็นทีว่าจะเป็นการแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมาและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณอย่างสูญเปล่า
- คอยหนุนบริษัทเหล่านั้นต่อไปจนกว่าสภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น ในช่วงทื่ภาครัฐนั้นยังมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ย หรือเลื่อนการชำระค่าหนี้ออกไปนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนก็เห็นว่าเป็นผลดีมากกว่าเนื่องจากลักษณะของบริษัทที่เคยได้กล่าวไปข้างต้นว่า หากบริษัทซอมบี้หนึ่งบริษัทปิดกิจการลงอาจจะทำให้เกิดภาวะลูกโซ่ ที่บริษัทขนาดเล็กๆอาจจะได้รับผลกระทบตามๆกันไป
แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเลือกวิธีแก้ทางไหน ก็จำเป็นต้องมองแนวคิดให้สอดคล้องกับ ภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ยิงในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบนี้จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจซอมบี้ไวมากขึ้น อย่างในประเทศไทยเราเองมีแม้ว่าค่า NPL หรือ GDP ของประเทศอาจจะสูงขั้นซึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็ต่างเป็นดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งนั้น แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโตขึ้นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะการหนุนธุรกิจต่างๆจากทางภาครัฐกันแน่